260437080_4687649164590086_2580729079632836797_n.jpg
260138448_4687671684587834_6679994381681641234_n.jpg
ระบบบริหารงานบำรุงทาง

งานบำรุงรักษาโครงข่ายทางหลวงเพื่อให้สายทางในความรับผิดชอบอยู่ในสภาพที่ดี สะดวก และปลอดภัยต่อผู้ใช้ทางถือเป็นภารกิจหลักกรมทางหลวง โดยการบำรุงรักษาทางหลวงนั้นประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆได้แก่ งานบำรุงปกติ งานบำรุงตามกำหนดเวลา งานบำรุงพิเศษและบูรณะ และงานซ่อมแซมแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ซึ่งจากขนาดของโครงข่ายทางหลวงที่คิดเป็นระยะทางมากกว่า 68,000 กิโลเมตร (ระยะทางต่อสองช่องจราจร) และงบประมาณบำรุงรักษาทางมากกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปีนั้น ทำให้ภารกิจในการสำรวจและประเมินสภาพทาง วางแผน จัดสรร และติดตามการใช้งบประมาณ เป็นงานที่ต้องใช้เวลาและทรัพยากรบุคคลในการดำเนินการเป็นจำนวนมาก

เพื่อให้สามารถเลือกสายทางและวิธีการซ่อมบำรุง และจัดสรรงบประมาณได้อย่างถูกต้อง คุ้มค่ากับงบประมาณในการซ่อมบำรุงที่มีอยู่อย่างจำกัด ด้วยสาเหตุดังกล่าว สำนักบริหารบำรุงทางจึงได้พัฒนาระบบการบริหารงานบำรุงทางดังแสดงในรูปที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการสำรวจและประเมินสภาพความเสียหาย ในการรวบรวม จัดเก็บและแสดงผลข้อมูลจากการสำรวจ ตลอดจนการนำระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูล  ลดความซ้ำซ้อนและความผิดพลาดในการทำงาน เพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน และทำให้รูปแบบการจัดทำรายงานเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยระบบบริหารงานบำรุงทางนั้นประกอบไปด้วยองค์ประกอบต่างๆที่สำคัญดังนี้

  1. ฐานข้อมูลกลางงานบำรุงทาง (Central Road Database: CRD) เป็นฐานข้อมูลหลักในระบบบริหารงานบำรุงทาง ที่โปรแกรมและระบบต่างๆที่เกี่ยวข้องจะมาเชื่อมโยงและดึงข้อมูลไปใช้งาน ทั้งนี้ CRD เป็นฐานข้อมูลในระบบ GIS โดยมีข้อมูลที่สำคัญได้แก่
    - แผนที่ บัญชีสายทาง บัญชีผิวทาง และรายละเอียดโครงสร้างทาง ของถนนในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง
    - สภาพสายทาง เช่น ค่าดัชนีความขรุขระสากล (IRI) ค่าความลึกร่องล้อ (Rutting) ความหยาบของผิวทาง (Texture Depth) และสภาพความเสียหายของผิวทาง รวมทั้งภาพถ่ายของสายทางทุก 25 เมตร
      โดยข้อมูลดังกล่าวที่ได้จากการสำรวจด้วยรถสำรวจสภาพทาง
    - ปริมาณจราจร (AADT) ทั้งนี้ฐานข้อมูล CRD จะเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลบางส่วน เช่น แผนที่ บัญชีสายทาง และ บริมาณจราจร กับฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นสำนักแผนงานและสำนักอำนวยความปลอดภัย เป็นต้น
  2. โปรแกรมสารสนเทศโครงข่ายทางหลวง
  3. โปรแกรมบริหารแผนงานบำรุงทาง (Thailand Pavement Management System: TPMS) เป็นโปรแกรมที่ใช้ข้อมูลสภาพทางจาก CRD มาวิเคราะห์เพื่อแนะนำแผนซ่อมบำรุงทางที่เหมาะสม  รวมทั้งสามารถวิเคราะห์ความต้องการงบประมาณระยะยาว (ไม่เกิน 10 ปี) ในด้านงานบำรุงทางของกรมทางหลวงได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว โดยสามารถทำการวิเคราะห์ได้ทั้งระดับสายทางที่กำหนด ระดับแขวงทางหลวง ระดับสำนักงานทางหลวง และระดับประเทศ
  4. โปรแกรมสารสนเทศแผนรายประมาณการ (แผน Online)  เป็นโปรแกรมที่ใช้จัดทำแผนรายประมาณการของโครงการบำรุงรักษาทางต่างๆ รวมถึงกระบวนการการอนุมัติงบประมาณ และติดตามความก้าวหน้าของโครงการบำรุงรักษาทางต่างๆ โดยเป็นการดำเนินการแบบ Online ผ่านทาง Internet
  5. โปรแกรมสารสนเทศทรัพย์สินทางหลวง และ โปรแกรมสารสนเทศทรัพย์สินนอกเขตทาง ทั้งสองโปรแกรมให้บริการผ่าน Website เพื่อบริหารจัดการข้อมูลทรัพย์สินทางหลวงทั้งในเขตทาง เช่น ผิวทาง และทรัพย์สินตลอดแนวสายทาง เช่น ป้าย สัญญาณไฟ ไฟฟ้าแสงสว่าง ศาลาทางหลวง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยต่างๆ ศาลาทางหลวง เป็นต้น และ ข้อมูลทรัพย์สินนอกเขตทาง เช่น ที่ดินสงวน และอาคารบ้านพักสำนักงานต่างๆ โดยใช้ระบบฐานข้อมูลและแผนที่ GIS เพื่อให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง สามารถทราบบริหารจัดการและดูแลบำรุงรักษษทรัพย์สินต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  6. โปรแกรมบริหารงานบำรุงปกติ ประกอบด้วยระบบรายงานและติดตามผลการใช้จ่ายงบประมาณบำรุงปกติ (รายงาน ง. 4-01 และ ง. 4-02) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาครายงานผลการดำเนินการและใช้จ่ายงบประมาณบำรุงปกติ และเพื่อให้ผู้บริหารของกรมทางหลวงสามารถทราบสถานะและประสิทธิภาพในการดำเนินงานบำรุงปกติ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการคำนวณและจัดสรรงบประมาณบำรุงปกติจากปริมาณทรัพย์สินที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาปรับปรุงโดยสำนักบริหารบำรุงทาง
  7. โปรแกรมบริหารงานภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Management System: EMS) เป็น Website และ Mobile Application เพื่อการบริหารจัดการของกรมทางหลวงในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุ น้ำท่วม ทางขาด เป็นต้น รวมทั้งการบริหารการจราจรช่วงเทศกาล โดยเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบสามารถรายงานข้อมูลรวมทั้งรูปภาพต่างๆ ผ่านทางเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือSmart Phone  เพื่อให้ผู้บริหารและประชาชนผู้ใช้ทางสามารถรับทราบข้อมูลได้แบบ Real time
  8. โปรแกรมศูนย์ปฏิบัติการงานบำรุงทาง (War Room) เป็นการบูรณาการข้อมูลจากฐานข้อมูล CRD โปรแกรม EMS และ แผน Online ผ่านWebsite และ Mobile Application เพื่อให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวง สามารถสืบค้นข้อมูล และดูรายงานสรุป เพื่อการพิจารณาวางแผนการซ่อมบำรุงทางได้โดยมีข้อมูลประกอบการพิจารณาอย่างครบถ้วนทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก นอกจากนี้ ยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้อง